ดร.สราวุธ และซัน ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนา ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกริก และรองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก
ดร.สราวุธ และซัน กล่าวว่า ภารกิจหลักของผมคือ การขยายขอบเขตทางด้านการศึกษาไปยังต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มอาเซียน จีน ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือยุโรป ดังนั้น จึงได้มีการก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพขึ้น ภายใต้การนำของ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกริก และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ต้องบอกว่า ทางผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก
ดร.สราวุธ และซัน
ซึ่งท่านได้ให้การสนับสนุน รวมถึงท่านประธานกรรมการบริหาร อาจารย์หวัง ฉาง หมิง (Wang Chang Ming) ประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริก ท่านก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก ทำให้ผมมีเวทีในการคิดและสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ดังจะเห็นได้ว่า เราเปิดวิทยาลัยฯ ใหม่นี้ ใน สาขาวิชาการบริหารธุรกิจอิสลาม ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มี โดยแบ่งออกเป็น 3 เอกวิชา ประกอบด้วย อุตสาหกรรมฮาลาล
ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาล มีการตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และในภาคเอกชน มหาวิทยาลัยของเราเป็นแห่งเดียวที่ผลิตบุคลากรด้านนี้ ขณะที่ในปัจจุบันนี้ในประเทศไทยเรากำลังพยายามให้เป็น “ครัวฮาลาล” ด้วยการผลิตสินค้าฮาลาลไปยังประเทศที่มีพลเมืองเป็นคนอิสลามทั่วโลก หรือคนที่ไม่ใช่มุสลิมเองก็ตาม เราได้มูลค่ามหาศาล อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ เรายังไม่เคยได้มีการผลิตบุคลากรด้านนี้มาก่อน ซึ่งที่มหาวิทยาเกริกจะเป็นที่แรกที่เปิดคณะนี้ ในระดับปริญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ดังนั้นถ้าภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อน ทำให้เกิดความร่วมมือกันและทำให้ประสบความสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ซึ่งภายในเรื่องการเรียนการสอนจะเป็นการบูรณาการกัน 2 ด้าน คือ
1) ด้านมาตรฐาน (QA, QC) คือ องค์กรด้านฮาลาลนั้นเราอยู่ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรด้านศาสนา โดยมีท่านจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน เมื่อองค์กรศาสนาเป็นผู้กำกับดูแล วางกฎระเบียบ รวมไปถึงการให้สัญลักษณ์ฮาลาล และตรวจสถานประกอบการต่างๆ ให้ผ่านมาตรฐาน และทุกจังหวัดจะมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ดังนั้น เรียกได้ว่าเป็นการทำงานที่ครบวงจร
2) ด้านบุคลากร ที่จะคอยสนับสนุน หรือนักศึกษาที่จะออกไปทำงาน ซึ่งสถานประกอบการต่างๆ มีความสนใจในกระบวนการผลิตให้มีฮาลาล ดังนั้นต้องมีคนที่จะเข้าไปดูแล เป็นผู้จัดการฝ่าย เป็นผู้ช่วยฯ ในฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตรวจสอบคุณภาพสินค้า ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่องมาตรฐานฮาลาลด้วย ทำให้ตลาดของการส่งออกบุคลากรของเรากว้างขวางมากขึ้นทั้งในประเทศและในต่างประเทศ
สินค้าที่ต้องผ่านฮาลาลไม่เพียงแค่ส่วนของอาหารเท่านั้น นั่นหมายรวมถึง น้ำดื่ม เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม หมอน เรียกได้ว่า สิ่งของอุปโภคบริโภคทั้งหมดที่เราใช้ได้ผ่านฮาลาลทั้งสิ้น ทำให้เรารู้ว่าสิ่งนั้นผลิตมาเป็นอย่างดี เพื่อสุขภาพที่ดีของมุสลิม ซึ่งการผลิตนี้ คือกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำด้วย ทั้งหมดนี้ต้องผ่านฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามนั่นเอง รวมถึงปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่ามี สปาฮาลาล ออกมาให้เห็นบ้างแล้ว
เราได้เปิดการเรียนการสอนมาแล้วปีนี้ เป็นปีที่ 4 ซึ่งรุ่นแรกกำลังจะจบการศึกษา ซึ่งจะมีบริษัทห้างร้านต่างๆ เข้ามาดีลนักศึกษาไปร่วมงาน ข้อได้เปรียบคือ นักศึกษาเราจะรู้เรื่อง QA QC และเรื่องฮาลาลไปด้วย ที่แห่งนี้จะกลายเป็นทูอินวัน นักศึกษาสามารถทำเอกสารได้ และรู้เรื่องมาตรฐานฮาลาล ก็สามารถออกตราฮาลาลให้ได้ ดังจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับสถานประกอบการได้
ถ้าพูดถึงเรื่องจำนวนนักศึกษา มีความเพียงพอกับการออกไปทำงานข้างนอกหรือไม่ จริงๆแล้วถ้าเราได้ไปดูสถิติของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแต่ละปี ออกตราสัญลักษณ์ฮาลาลจำนวนประมาณ 120,000 ตรา และถ้ามาดูที่สถานประกอบการจะมีจำนวน 4,000 แห่ง ดังนั้น เราต้องผลิตบุคลากรให้ได้ถึง 4,000 คน สำหรับใช้ในสถานประกอบการ 1 คน แต่ในทุกวันนี้เราสามารถผลิตนักศึกษาที่จบใหม่ได้เพียง 100 คนเท่านั้น ทำให้ยังขาดอีกจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงต้องผลิตบุคลากรเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการ นอกจากนี้ ตลาดในกลุ่มของประเทศตะวันออกกลาง ก็ยังต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอีกจำนวนมากเช่นกัน อย่างไรก็ตามมาตรฐานฮาลาลประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานสากล เพราะเรามีการบูรณาการการทำงานร่วมกับ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเขาจะเข้ามาตรวจดูระบบต่างๆของประเทศไทย
เอกการเงินอิสลาม จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีธนาคารอิสลามกว่า 100 แห่ง และ เรามีสหกรณ์อิสลามอีก มากกว่า 100 แห่ง เราจึงจำเป็นต้องผลิตบุคลากรเฉพาะด้านนี้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรด้านนี้ ซึ่งธนาคารและสหกรณ์มีเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมหาศาล ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยผู้บริหารใช้หลักประสบการณ์เข้ามาบริหารงาน และยังไม่มีใครที่จบด้านนี้โดยตรง เป็นสาขาวิชาใหม่ในประเทศไทยแต่ไม่ได้ใหม่ในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศมาเลเซียเขามีมานานแล้ว ซึ่งเดิมอาจจะเป็นแค่รายวิชา แต่เรากำลังพยายามทำสาขานี้ให้ใหญ่ยิ่งขึ้น และขณะนี้ก็เรียกได้ว่า มหาวิทยาลัยเกริก เป็นผู้นำสาขาวิชานี้
เอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ในประเทศไทยเรายังไม่มีการเรียนการสอนทางด้านนี้เช่นกัน เนื่องจากที่ประเทศซาอุดิอาระเบียมี Vision 2030 หรือเทียบได้กับยุทธศาสตร์ชาติในประเทศไทย Vision นี้ อยู่ภายใต้การกำกับของท่านมกุฎราชกุมารมูฮัมหมัด บิน อับดุลอาซิซ อัล ซะอูด ที่เคยมาเยือนมหาวิทยาลัยเกริกแล้ว ซึ่งท่านได้ให้ความสำคัญกับการพลิกโฉมประเทศ จากแหล่งผลิตน้ำมันของโลก มาเป็นประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนซาอุดิอาระเบีย มีคนมาเที่ยวก็นำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศ ที่สำคัญคือ มีการท่องเที่ยวเชิงศาสนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ ช่วงพิธีฮัจญ์
คนจากทั่วโลกต้องไปทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ปีหนึ่งนับสิบล้านคน รวมถึง พิธีเล็ก ที่คนมุสลิมต้องไปแสวงบุญ เรียกว่า พิธีอุมเราะห์ มีการทำพิธีแล้วก็จะมีการเดินทางท่องเที่ยวไปด้วย ดังนั้นในรายละเอียดของวิชานี้ นักศึกษาจะได้เรียนครบ ตั้งแต่ ด้านมัคคุเทศน์ การโรงแรม การท่องเที่ยว เรื่องของอาหาร เรื่องของการประกอบพิธีอุมเราะห์ เรื่องของการประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งล่าสุดเราได้มีการส่งนักศึกษาไปฝึกงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยซาอุดิอาระเบียให้ทุนคนละ 250,000 บาทต่อหนึ่งคน ปีละ 10 ทุน
ผมมีความคาดหวัง มุ่งหวังด้านมาตรฐาน ถ้าเราจะให้วิชาการดี อาจารย์คือคนที่สำคัญมาก ถ้าหากว่าอาจารย์มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยเกริก ได้มีการสนับสนุนให้อาจารย์เดินทางหมุนเวียนกันไปซาอุดิอาระเบีย และไปศึกษาดูงานในประเทศอื่นๆ เช่นมาเลเซีย ตุรกี คือเราต้องพัฒนา ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ในสิ่งใหม่ๆ และนำมามอบให้กับนักศึกษา เราจะไม่มีวันล้าหลัง
อีกด้านหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่องความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ถ้าเราจับมือกัน เราก็จะเดินต่อไปได้ เช่นสิ่งที่เราทำแล้ว คือ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา จับมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ในประเทศมาเลเซีย บูรไน
โดยล่าสุดเราได้ส่งนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนที่อินโดนิเซีย ในระยะเวลา 1 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน เขาก็ส่งนักศึกษาของเขามาแลกเปลี่ยนกับเรา ถ้าเรามีพันธมิตร มีนวัตกรรมใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยน เราก็จะไปได้ไกลยิ่งขึ้น นักศึกษาที่กลับมาก็จะมาบอกเล่าให้เพื่อนๆได้รับฟังสิ่งที่เขาได้ไปรับรู้มาอีกต่อหนึ่ง
โดยส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยเกริกได้สนับสนุนด้านนี้เป็นพิเศษ จึงได้จัดตั้ง สำนักงานการต่างประเทศ ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเราก็มีภารกิจจำนวนมาก ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกริก ท่านเป็นคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ในขณะเดียวกันก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ ดังนั้นการทำงานก็จะซัพพอร์ตเกื้อหนุนกันและกัน
ขณะนี้ มีนักศึกษาทั้ง 3 เอกวิชา ทั้ง 4 ชั้นปี จำนวนกว่า 500 คน และจะมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาปีนึงจำนวน 100 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งขณะที่ผู้ปกครองและนักศึกษาให้ความสนใจกันมาก มีทั้งนักศึกษามุสลิมและไม่ได้เป็นมุสลิมด้วย เนื่องจากผู้ปกครองคนพุทธที่ทำธุรกิจด้านสินค้าและบริการ ให้ความสำคัญ จึงได้ส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาก็ไม่ใช่น้อย รวมถึงคนวัยทำงานก็เข้ามาเรียน ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
ส่วนการได้รับรางวัลบุคคลด้านการศึกษาดีเด่น ก็มีความรู้สึกดีใจ เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเดิมทีเป็นเพียงสาขาเล็กๆอยู่ในคณะบริหารธุรกิจ ก็เรียกได้ว่า ได้เข้ามาช่วยพัฒนาวงการศึกษา ของมหาวิทยาลัยเกริก เป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทายในช่วงแรกๆ และทำงานอย่างหนัก หลังจากที่เปิดมาได้สักระยะหนึ่ง มีนักศึกษาไทย นักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนกับเรามากขึ้น เหมือนกับติดลมบนแล้ว มีนักศึกษาเข้ามาเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในอนาคตก็จะมีการเปิดรับนักศึกษามากขึ้น แต่สิ่งที่เราไม่ลืมเลย คือเรื่องของการช่วยเหลือสังคม ซึ่งทุกปีจะมีทุนการศึกษา เราได้มอบให้กับสำนักจุฬาราชมนตรี ปีหนึ่งจำนวนกว่า 300 ทุน เพื่อไปให้กับคนที่สนใจเข้าไปสอบแข่งขัน เพื่อชิงทุนการศึกษา เรียกว่าเป็นสนามใหญ่ระดับประเทศที่หนึ่ง
ผมจะเข้ารับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีผมได้รับความไว้วางใจจากท่านจุฬาราชมนตรีให้เป็นที่ปรึกษา ได้หารือ และอยากจะผลักดันเรื่องการศึกษา เพราะพอเราได้มาทำงานตรงนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นจุดหนึ่งที่จะอยู่เพียงรั้วมหาวิทยาลัยแห่งเดียว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ทั้งประเทศ ก็คงต้องขยายงานในทุกๆด้าน ต่อยอดต่อไป
“ฝากถึงผู้ปกครองและนักศึกษา เพราะปีหนึ่งๆ เรามีบัณฑิตที่จบออกไปจำนวนมาก แต่เรียนอะไรถึงจะไม่ตกงาน ก็ต้องเรียนในสิ่งที่ตลาดหรือสถานประกอบการต้องการ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเกริก ผู้ปกครองต้องให้การสนับสนุนให้ข้อมูลกับเยาวชน เพราะบางคนยังตัดสินใจไม่ได้ และต้องศึกษาข้อมูลให้ดี โดยเฉพาะ 3 คณะวิชานี้ ถ้าส่งน้องไปเรียนด้านสามัญก็มีภูมิคุ้มกันด้านศาสนาน้อย หรือไปเรียนด้านศาสนาล้วนจากต่างประเทศกลับมาก็จะค่อนข้างแคบ ว่าจะไปทำงานอะไรดี ดังนั้น ที่นี่จะเป็นที่บูรณาการ ระหว่างศาสนากับสามัญเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี” ดร.สราวุธ และซัน กล่าวทิ้งท้าย
More Stories
สวยตะลึงกลางกรุง!!! ทุ่งดอกไม้ สวนหย่อมสวนแนวตั้ง บานสะพรั่ง พลุสุดอลัง ชิมชอปสินค้า ตลาดชาววัง ณ งาน “พรรณไม้งามอร่าม สวนหลวง ร.๙” 1 – 10 ธ.ค. 67
เอ็นที เชิญชวนเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรม ณ ร้านกาชาด ประจำปี 2567 ที่สวนลุมพินี
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ขยายฐานการผลิต “ปูนคาร์บอนต่ำ” มุ่งผลักดันการส่งออก พร้อมสร้างความเชื่อมั่นกับ Distributor เดินเครื่องเต็มสูบในเวียดนามใต้